เอกสารธรรมศาสตร์เวชสาร เกี่ยวกับแร่ใยหิน

ขอความเป็นธรรมกรณีการตีพิมพ์ข้อมูลเรื่องแร่ใยหินไครโซไทล์

6 ตุลาคม 2557

เรื่อง      ขอความเป็นธรรมกรณีการตีพิมพ์ข้อมูลเรื่องแร่ใยหินไครโซไทล์

เรียน     บรรณาธิการสกู๊ปหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
สิ่งที่แนบ: เอกสารธรรมศาสตร์เวชสาร ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๔ ประจำเดือนตุลาคม – ธันวาคม ๒๕๕๖ หน้า ๕๙๘-๕๙๙ จดหมายถึงบรรณาธิการ – มะเร็งใยหิน?

สืบเนื่องจากบทความถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2557 หน้า 1 และ หน้า 5 เรื่อง “วัดใจรัฐบาลใหม่ตัดสินใจแร่ใยหิน” มีการนำเสนอข้อมูลกล่าวอ้างการพบผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน ทั้งที่ข้อมูลนั้นยังไม่มีหลักฐานใดๆยืนยันความจริง ซึ่งอาจนำไปสู่การทำให้ประชาชนและผู้อ่านเกิดความเข้าใจผิดได้ ดังนั้นในนามศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ ประเทศไทย ใคร่ขอความเป็นธรรม และเรียกร้องให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวอย่างเป็นกลาง และควรมีการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงก่อนการเผยแพร่ข่าวสู่ธารณชน เนื่องจากมีหลายประเด็นของเนื้อหาดังกล่าวยังไม่พบหลักฐานการพิสูจน์ยืนยันความจริงแต่อย่างใด ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ ในฐานะผู้นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ในประเทศไทย มีคำถามหลายประการที่อยากฝากมายังท่านบรรณาธิการและสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่เสนอข่าวเพื่อพิจารณาประกอบการนำเสนอข่าวสารดังนี้

กรณีการอ้างการพบผู้ป่วยที่มีสาเหตุมาจากแร่ใยหินไครโซไทล์ในประเทศไทยนั้น ที่ผ่านมาศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ที่เฝ้าติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ไม่เคยพบรายงานหรือมีข้อมูลใดที่เป็นหลักฐานยืนยันชัดเจนถึงกรณีการพบผู้ป่วยดังกล่าว ทั้งนี้เอกสารธรรมศาสตร์เวชสารดังกล่าวตามแนบ ได้ตีพิมพ์จดหมายตอบโต้ระหว่างศ.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์บรรณาธิการธรรมศาสตร์เวชสาร และ ศาตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ โดยมีการชี้ให้เห็นว่าบทความทางวิชาการซึ่งบรรณาธิการฯ เป็นผู้เขียนร่วม มีการรายงานผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดเหตุใยหินโดยไม่ได้มีการซักประวัติอย่างละเอียดจากผู้ป่วยโดยตรง และมีข้อจำกัดของการซักประวัติการทำงานในรายงานผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดเหตุใยหินด้วยเหตุนี้ จึงยังไม่ควรด่วนสรุปว่าผู้ป่วยที่พบนั้นเป็นโรคที่เกิดจากเหตุใยหิน เนื่องจากไม่มีความชัดเจนของการตรวจวินิจฉัย

ที่สำคัญตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีที่ผ่านมา ในประเทศไทยไม่เคยพบผู้ป่วยหรือผู้ที่เสียชีวิตจากการสัมผัสหรือทำงานเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับแร่ใยหินไครโซไทล์และผลิตภัณฑ์ที่ใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ในประเทศไทยมีการใช้แร่ใยหิน 2 ชนิด คือ แร่ใยหินชนิดแอมฟิโบล และแร่ใยหินชนิดเซอร์เพนไทน์ โดยแร่ใยหินแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านโครงสร้างทางเคมีและด้านคุณสมบัติ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินชนิดแอมฟิโบลไปแล้ว แต่ยังคงให้ใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ (ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเซอร์เพนไทน์)ได้ ทั้งนี้ มีการกำหนดมาตรฐานการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์อยู่แล้ว เพื่อให้ประชาชนใช้วัสดุได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม การอ้างถึงผู้ป่วยในรายงานดังกล่าวก็เพียงแต่ระบุว่าเป็นผู้ป่วยที่สงสัยว่าเกิดจากแร่ใยหิน แต่ก็มิได้มีการซักประวัติและระบุชี้ชัดได้ว่าเกิดจากแร่ใยหินชนิดใด ดังนั้นจึงใคร่ขอความกระจ่างในเรื่องความชัดเจนของข้อมูล หากมีหลักฐานยืนยันชัดเจนต่อเรื่องดังกล่าว ทั้งการระบุตัวตนของบุคคลที่ป่วยด้วยแร่ใยหินไครโซไทล์ หลักฐานแสดงจำนวนตัวเลขที่กล่าวอ้างเป็นมาอย่างไร มีการบันทึกข้อมูลสถิติตัวเลขไว้ชัดเจนหรือไม่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญต่อการนำเสนอข่าวอย่างยิ่ง หากมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบอาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด และอาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของหนังสือพิมพ์ของท่านได้ ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์จึงใคร่ขอให้ท่านชี้แจงและนำความจริงจากเอกสารแนบมาเผยแพร่ต่อไป

ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะเปิดรับและพิจารณาข้อมูลทั้งสองด้านตลอดจนให้ความเป็นธรรมในการชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกรณีดังกล่าวเพื่อนำเสนอข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนและเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านต่อไป หรือหากต้องการข้อมูลใดๆเพิ่มเติมเกี่ยวกับแร่ใยหินไครโซไทล์ในประเทศไทย สามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ นายเมธี อุทโยภาส ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ประเทศไทย 089-816-4031 ยินดีให้ข้อมูลทุกกรณี

 

ขอแสดงความนับถือ

      เมธี อุทโยภาส
ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์

ขอความเป็นธรรมกรณีการตีพิมพ์ข้อมูลเรื่องแร่ใยหินไครโซไทล์
ขอความเป็นธรรมกรณีการตีพิมพ์ข้อมูลเรื่องแร่ใยหินไครโซไทล์
Please follow and like us: