จดหมายเปิดผนึกถึง
ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
เรื่อง โปรดพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแร่ใยหินไครโซไทล์
เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา
สืบเนื่องจากการที่มีความพยายามเคลื่อนไหวกดดันให้มีการเร่งรัดการออกกฎหมายเพื่อห้ามมิให้มีการนำเข้าและการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ในประเทศไทย โดยได้ทำการเผยแพร่ข้อมูลเพียงด้านเดียว ที่อาจก่อให้เกิดความกลัวและวิตกกังวลต่อประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในภาครัฐและเอกชน ทั้งที่ในความเป็นจริง แร่ใยหินไครโซไทล์ถูกนำมาใช้ในประเทศไทยมาเป็นเวลานานกว่า 70 ปีแล้ว และยังไม่มีข้อสรุปถึงความเป็นอันตรายต่อสุขภาพในประเทศไทยที่ชัดเจนเพียงพอ
อีกทั้งหลักฐานอ้างอิงจากองค์กรทั้งภายในและต่างประเทศมีการระบุถึงการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ว่าสามารถนำมาใช้ภายใต้การควบคุมได้อย่างปลอดภัยได้แก่
- ที่ประชุมใหญ่สมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly) ครั้งที่ 60 วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ณ กรุงเจนีวา มีมติว่าแร่ใยหินแต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน จึงควร จัดให้มีการดูแลที่แตกต่างกัน ไม่ได้มีมติให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินแต่อย่างใด
- องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) ILO Convention No.162 มีการระบุข้อกำหนดที่ชัดเจนถึงวิธีการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์อย่างปลอดภัย ในขณะที่ประเทศไทยมีการกำหนดมาตรการควบคุมการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์เพื่อให้ประชาชนใช้วัสดุได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยเช่นกัน
- องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Environmental Protection Agency) หรือ USEPA ระบุไว้ว่าสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีการห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีใยหิน ทั้งนี้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2534 อนุญาตให้มีการนำเข้าแร่ใยหินเพื่อนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆมากมาย ทั้งนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ แร่ใยหินที่ไม่ได้มีการห้ามใช้ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมวัตถุมีพิษ (The Toxic Substances Control Actหรือ TSCA) ได้แก่ กระเบื้องลอนซีเมนต์ใยหิน แผ่นซีเมนต์ใยหินชนิดเรียบ เสื้อผ้าที่มีส่วนผสมแร่ใยหิน วัสดุหุ้มท่อ แผ่นฉนวนรองหลังคา กระเบื้องปูพื้นไวนิลใยหิน แผ่นมุงหลังคาซีเมนต์ใยหิน กระดาษอัด ท่อน้ำซีเมนต์ ครัชท์ ผ้าเบรก ปะเก็น สารเคลือบทั่วไป และ สารเคลือบหลังคา ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา สะท้อนให้เห็นว่าแร่ใยหินไครโซไทล์สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย
- ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2555 ว่าด้วยเรื่อง ผลการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1 ภายใต้คณะกรรมาธิการร่วมมือ ทวิภาคีไทย-รัสเซีย ได้ระบุชัดเจนให้คำนึงถึงการพิจารณาร่วมกันระหว่างไทยกับรัสเซียในประเด็นแร่ใยหิน และทางรัสเซียก็ได้ร้องขอให้ประเทศไทยให้มีการพิจารณาในเรื่องนี้ รวมทั้งยินดีที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญมาแลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์และทำการศึกษาอย่างจริงจัง
- ในที่ประชุมของคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหินไครโซไทล์ ทั้ง 4 ครั้ง โดยกระทรวงสาธารณสุข มีข้อสรุปว่าจากการศึกษา ไม่ปรากฏข้อมูลที่ชัดเจนว่าแร่ใยหินไครโซไทล์ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้มีการเลิกใช้วัสดุดังกล่าว
- ข้อมูลสถิติการค้าแร่ใยหินในปี พ.ศ. 2556 ของสหประชาชาติ (United Nations) พบว่า หลายประเทศมีการห้ามนำเข้าแร่ใยหิน แต่กลับมีการอนุญาตให้มีการนำเข้าและส่งออก อาทิ เยอรมัน สเปน สวิสเซอร์แลนด์ และประเทศอื่นๆ ในยุโรป เป็นต้น อีกทั้งประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ยังมีการให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน ไครโซไทล์อยู่
- รายงานผลการพิจารณาศึกษา ของคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภาฉบับวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555 ชี้ให้เห็นว่าการที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปจัดทำแผนการยกเลิกการนำเข้า ผลิตและจำหน่ายแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบทุกชนิด คงมิใช่เป็นผลจากข้อมูลด้านสุขภาพทั้งหมด แต่อาจเกิดขึ้นจากความพยายามของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เกี่ยวข้องเพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ
- ข้อมูลของสถาบันวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer) หรือ IARC ระบุว่าแร่ใยหินทุกชนิดรวมถึงแร่ใยหินไครโซไทล์เป็นสารก่อมะเร็งร้ายแรงนั้น ในความเป็นจริงแล้วแร่ใยหินไครโซไทล์ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็งเช่นเดียวกับแสงแดดและปลาเค็ม ดังนั้นการห้ามใช้จึงเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
- ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นหากมีการยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ในประเทศไทย ถือเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาลให้แก่ภาครัฐและเอกชน ซึ่งอาจมีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 4 แสนล้านบาท
- ปัจจุบันวัสดุทดแทนยังไม่สามารถเข้ามาแทนที่แร่ใยหินไครโซไทล์ในด้านความแข็งแรงทนทาน อีกทั้งวัสดุทดแทนยังไม่มีการศึกษาถึงความเป็นความอันตราย จึงยังไม่มีความชัดเจนเรื่องผลกระทบทางสุขภาพต่อผู้ใช้ นอกจากนี้ยังทำให้คุณภาพสินค้าลดลงรวมถึงระยะเวลาการใช้งานก็ลดลงด้วยเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชน ผู้บริโภคซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง รวมถึงหน่วยงานราชการและโครงการต่างๆ
ทั้งนี้ศูนย์ข้อมูลฯ มีความห่วงใยในสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งมีความจำเป็นในการตรวจสอบข้อเท็จจริง และความถูกต้องของข้อมูลอย่างถี่ถ้วน ก่อนที่จะมีการกำหนดนโยบายใดๆ อันอาจจะเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายต่อประชาชน เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จนเกินกว่าจะเยียวยาได้
ขอแสดงความนับถือ
(มานพ เจริญจิตต์)
ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์
หมายเหตุ: ทั้งนี้จดหมายฉบับจริงได้มีการยื่นถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อย ลงวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2557
หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือต้องการให้ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ ชี้แจงในประเด็นใดๆ ทางศูนย์ฯ ยินดีให้ความร่วมมือทุกประการ โดยท่านสามารถติดต่อ
นายเมธี อุทโยภาส ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร โทร. 089-816-4031