กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555
สุชาดา นิ่มนวล
ปัจจุบันอันตรายจากการใช้แร่ใยหิน
ที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ประเภทวัสดุก่อสร้าง ยังคงสร้างความเคลือบแคลงใจและความเดือดร้อนให้กับหลายฝ่ายที่ได้รับผลกระทบ ทั้งฟากของผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ทว่าปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มจะบานปลายไปถึงผู้บริโภคที่กำลังตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงบนความไม่รู้อีกด้วย เนื่องจากแร่ใยหินเป็นบ่อเกิดของโรคมะเร็งและโรคเยื่อหุ้มปอด
แม้ว่ารัฐบาลได้ออกกฎหมายประกาศให้แร่ใยหินเป็นวัตถุอันตราย ห้ามนำเข้าหรือผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบไปแล้ว แต่ก็ยังมีแร่ใยหินอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ไครโซไทล์” ซึ่งยังมีการนำเข้าและใช้ผลิตเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อย่างเช่น กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องแผ่นเรียบ ท่อซีเมนต์ใยหิน กระเบื้องปูพื้น และผ้าเบรก/คลัทช์ ที่ยังคงมีการนำเข้าและผลิตจำนวนสูงมากขึ้นทุกปี
ล่าสุดมีข้อมูลว่ารัฐบาลอาจจะยืดระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไปอีก 3-5 ปี ก่อนที่จะมีการยกเลิกการผลิตและยกเลิกการนำเข้าอย่างถาวร เนื่องจากต้องศึกษาผลกระทบอย่างละเอียดรอบด้าน ซึ่งได้สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบอย่างเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินในประเทศไทยหรือ T-BAN (Thailand Ban Asbestos)ต้องออกมาเดินขบวนเคลื่อนไหวเพื่อกระตุ้นให้กระทรวงอุตสาหกรรมสั่งระงับการผลิต จำหน่ายและยกเลิกการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน ไครโซไทล์ภายในวันที12 เมษายน 2556ทันที
ทั้งนี้ จากเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็นและนำเสนอแผนการ “ยกเลิก การนำเข้า ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ” นำทีมโดยนายพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ ในฐานะ รักษาการอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายชุมพล ชีวะประภานันท์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และนางสมศรี สุวรรณจรัส ผู้อำนวยการควบคุมวัตถุอันตราย ซึ่งการถกเถียงครั้งนี้ จะเป็นบทสรุปครั้งสุดท้ายของการทำประชาพิจารณ์ ก่อนสรุป เสนอครม.พิจารณาอนุมัติ
นายพงษ์เทพ รักษาการอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวชี้แจงว่า การรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการจัดทำแผนการนำเข้าการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินไครโซไทล์เป็นส่วนประกอบ ตามมติของ ครม.ที่เห็นชอบ แต่ทาง ครม.ไม่ได้ระบุว่าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินจะต้องหมดไปในปี 2555อาจเกรงว่าจะเป็นการเร่งรัดทุกฝ่ายมากจนเกินไป ในส่วนนี้จะต้องรับฟังหน่วยราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางฟากของพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงพาณิชย์ และอีกหน่วยงานคือ คณะกรรมการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายพงษ์เทพ บอกต่อว่า กรณีที่จะให้ประกาศว่าแร่ใยหิน ไคร์โซไทล์ เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 และกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย หากมีการยกเลิกจริงตามมติของ ครม.จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีกรอบเวลาที่ชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จากแร่ใยหินไม่น้อยกว่า 5 ชนิด ได้แก่ กระเบื้องมุงหลังคากระเบื้องแผ่นเรียบ ท่อซีเมนต์ใยหิน กระเบื้องปูพื้นและผ้าเบรก คลัทซ์ ซึ่งเข้าใจว่าผู้ใช้แรงงานอาจได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ จึงได้มอบหมายให้ทางกระทรวงสาธารณสุขไปศึกษาผลกระทบทางด้านสุขภาพของผู้ใช้แรงงานและผู้บริโภค ส่วนราคาที่สูงขึ้นได้มอบหมายให้ทางกระทรวงการคลังรับผิดชอบในส่วนของภาษี เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
“ข้อสรุปจากการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ พบว่าบางประเทศมีการยกเลิก 100% และบางประเทศยกเลิกเพียงแค่บางผลิตภัณฑ์ ส่วนสาเหตุที่มีการยกเลิกการนำเข้าและการผลิต เป็นผลมาจากปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจและความคงทนถาวรเข้ามาร่วมอยู่ด้วย”
ขณะที่ รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศิวะเดชาเทพ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะเป็นผู้ดำเนินการศึกษาในกรณีดังกล่าว เปิดเผยข้อสรุปของแผนการยกเลิกและการนำเข้าและการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินไครโซไทล์เป็นส่วนประกอบว่า ได้ทำการศึกษารวบรวมความคิดเห็นและผลกระทบในหลายแง่มุม ซึ่งมีการเปรียบเทียบความคุ้มค่าระหว่างต้นทุนของสินค้าที่สูงขึ้นกับความคุ้มค่าในภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งการศึกษากรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถบ่งชี้ได้ชัด จะต้องรอผลการศึกษาของทางกระทรวงสาธารณสุขว่าจะเป็นปัญหาที่กระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้แรงงานด้วยหรือไม่
“ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเด็ดขาด ว่ากระทบต่อสุขภาพมากน้อยแค่ไหน ทำได้แค่ทบทวนการศึกษา แต่ธงที่ชัดเจนคือ ต้องยกเลิกตามมติ ครม.ทั้งนี้ต้องมามองทางฝั่งผลกระทบต่อประชาชนในแง่ที่ไมใช่สุขภาพด้วย แต่เป็นเรื่องของความเป็นอยู่ ยกตัวอย่างกรณีหลังคาบ้านของประชาชนพัง ถ้าต้องใช้หลังคาไม่มีแร่ใยหินจะต้องเปลี่ยนทั้งหลัง ประชาชนอาจได้รับผลกระทบไปด้วยในแง่ของต้นทุน” รศ.ดร.จักรกฤษณ์ กล่าว
ส่วนผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชที่เกี่ยวเนื่องกับกรอบเวลา
ในการยกเลิกการนำเข้าและการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินไครโซไทล์เป็นส่วนประกอบ รศ.ดร.จักรกฤษณ์ บอกว่าผลิตภัณฑ์ทั้ง 5 ชนิดมีระยะเวลาในการยกเลิกแตกต่างกันออกไปตามเหตุและปัจจัย โดยชนิดที่ 1.กระเบื้องแผ่นเรียบ ให้ระยะเวลาในการยกเลิกใช้ 2 ปี เนื่องจากผลิตภัณฑ์มีสารใช้ทดแทนแล้วคือ เยื่อกระดาษและพีวีเอ (PVA) ซึ่งได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.)ของผลิตภัณฑ์ทดแทนแล้ว
ชนิดที่ 2.กระเบื้องปูพื้นให้ระยะเวลาในการยกเลิกใช้ 2 ปี ได้แก่ กระเบื้องเคลือบดินเผาปูพื้น กระเบื้องยาง ผลิตภัณฑ์ไม้ ซึ่งได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.)ของผลิตภัณฑ์ทดแทนแล้ว
ชนิดที่ 3. ผ้าเบรก/คลัทซ์ สำหรับรถจักรยานยนต์ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลให้ระยะเวลาในการยกเลิกใช้ 2 ปี เนื่องจากสามารถผลิตโดยที่ไม่มีส่วนผสมของแร่ใยหินได้ ส่วนผ้าเบรก/คลัทซ์สำหรับรถบรรทุกโดยสารขนาดใหญ่ให้ระยะเวลาในการยกเลิกใช้ 5 ปี โดยเห็นว่ารถบรรทุกเป็นรถโดยสารขนาดใหญ่ยังไม่สามารถหาวัตถุดิบทดแทนที่จะรองรับแรงเสียดทานเทียบเท่าแร่ใยหินได้ พร้อมส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบทดแทนแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ทดแทน พร้อมกับให้รัฐจัดหาแหล่งเงินทุน ร่วมทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบทดแทน
ชนิดที่ 4. ท่อส่งน้ำซีเมนต์ใยหิน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 400 มม.ให้ระยะเวลาในการยกเลิกใช้ 2 ปีเนื่องจากมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทดแทนได้แก่ ท่อพีวีซี ท่ออีพีเสริมใยแก้วและท่อคอนกรีตเสริมเหล็กแต่ก็ยังไม่เทียบเท่าใยหิน ส่วนท่อส่งน้ำซีเมนต์ใยหินขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 400 มม. ขึ้นไปให้ระยะเวลาในการยกเลิกใช้ 5 ปี เนื่องจากการมีการใช้งานในระบบชลประทานหรือพื้นที่ชนบท อีกทั้งมีข้อจำกัดในเรื่องของความทนทาง การทนแรงดันสูง ภัยธรรมชาติ อาทิ ไฟไหม้ป่า ซึ่งผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ยังมีราคาแพงไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในประเทศไทย ส่วนการดำเนินการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกกฎหมายเพื่อยกเลิก การผลิตและการใช้ท่อส่งน้ำซีเมนต์ใยหินขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 400 ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบทดแทนแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ทดแทน พร้อมกับให้รัฐจัดหาแหล่งเงินทุน ร่วมทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบทดแทน
ส่วนชนิดที่ 5.กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องลอนเล็ก ให้ระยะเวลาในการยกเลิกใช้ 5 ปี เนื่องจากยังไม่มีผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดใกล้เคียงทดแทนได้ ซึ่งกรณีการซ่อมแซมอาจต้องมีการรื้อถอนทั้งหมด กระเบื้องลอนใหญ่ให้ระยะเวลาในการยกเลิกใช้ 2 ปีเนื่องจากส่วนใหญ่จะใช้กับโรงงานอุตสาหกรรม และใช้กระเบื้องซีเมนต์ทดแทนได้ กระเบื้องลอนคู่ให้ระยะเวลาในการยกเลิกใช้ 2 ปี เพราะสามารถใช้เส้นใยพีวีเอ(PVA)และเยื่อกระดาษ แต่ผลิตภัณฑ์ยังมีราคาสูงและคุณภาพด้อยกว่ามาก อาทิ อายุการใช้งานซึ่งโดยเฉลี่ยกระเบื้องแร่ใยหินมีอายุ 45-50ปี ขณะที่วัตถุดิบทดแทนมีอายุเฉลี่ยเพียง 5 ปี
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ กล่าวต่อว่า กระเบื้องมุงหลังคาที่ใช้วัตถุดิบอื่นแทนแร่ใยหิน ใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.)ต่างกัน และมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจกับภาคครัวเรือนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางและภาคเกษตรรายย่อยทั่วประเทศ ราคาของกระเบื้องทดแทนจะสูงกว่าเล็กน้อยอายุการใช้งานสั้นกว่า ซึ่งการประมาณการค่าใช้จ่ายการรื้อถอนและมุงหลังคาที่มีแร่ใยหินทั้งหมดในประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่าสี่แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามการกำหนดกรอบเวลาดังกล่าวคำนึงถึงความเหมาะสมเพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมตัวและให้หน่วยราชการออกข้อบังคับยกเลิกเลิกการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหิน นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ยังไม่ได้ออกมารับรองว่าสารทดแทนปลอดภัย เพียงแต่แจ้งว่ามีอันตรายน้อยกว่าใยหิน หรือ”Less Harmful” ซึ่งยังไม่มั่นใจว่าหากมีการยกเลิกเพื่อมาสนับสนุนให้ใช้สารทดแทน จะเป็นการเคลื่อนย้ายปัญหามากกว่า
“ในประเด็นความปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สินสาธารณชนอย่างผลิตภัณฑ์ ผ้าเบรกและคลัทซ์ ก็ต้องมีความมั่นใจว่าการใช้งานผลิตภัณฑ์นั้นมีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินเทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์แร่ใยหิน” รศ.ดร.จักรกฤษณ์ กล่าว
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ กล่าวต่อว่า ขณะที่กระเบื้องมุงหลังคาและท่อส่งน้ำซีเมนต์ใยหิน ต้องมองในมุมของเทคโนโลยีในการผลิต ราคาและคุณภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทบต่อผู้บริโภคในภาคครัวเรือนและเกษตรกรที่มีรายได้น้อย ความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินและเศรษฐกิจระดับประเทศ อย่างเช่น การสูญเสียตลาดให้กับจีน การลักลอบนำเข้าสินค้า
“ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเด็ดขาด ว่ากระทบต่อสุขภาพมากน้อยแค่ไหน”