มติชน ฉบับวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2555
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการ ครั้งที่ 1 ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้ สธ.ตั้งคณะกรรมการดังกล่าวขึ้น เพื่อศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ โดยจะเน้นในเรื่องของสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนเป็นหลัก ทั้งนี้ จากการประชุมได้มีการเสนอข้อมูลผลกระทบด้านสุขภาพ ซึ่งมีทั้งของในประเทศ และต่างประเทศ โดยเห็นว่ายังมีช่องโหว่ของข้อมูล จึงได้มอบหมายให้ไปรวบรวมข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรอบด้าน รวมทั้งเคสตัวอย่างของผู้ป่วยที่ได้รับผลจากแร่ใยหินว่ามีจำนวนเท่าใด เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของการประชุมครั้งหน้าในเดือนมกราคม 2556
“จากเคสตัวอย่างที่นักวิชาการระบุว่าป่วยจากแร่ใยหิน ซึ่งผลการตรวจเอกซเรย์ปอดพบว่า เยื่อหุ้มปอดหนาขึ้นกว่าปกติ ตรงนี้ทำให้เกิดคำถามว่า หนากว่าคนปกติอย่างไร และปริมาณเท่าใดถึงเรียกว่าหนากว่า จึงให้ไปรวบรวมข้อมูลให้ชัดเจนกว่านี้” นพ.ชาญวิทย์กล่าว
พญ.พิชญา พรรคทองสุข อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า จริงๆ ครม.มีมติตั้งแต่ปี 2554 ระบุชัดให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินโดยกระทรวงอุตสาหกรรมต้องดำเนินการ แต่กลับกลายเป็นให้กระทรวงสาธารณสุขมาตั้งคณะทำงานดูเรื่องนี้ ซึ่งเหมือนนับหนึ่ง ทั้งๆ ที่ปัจจุบันมีประเทศกว่า 60 ประเทศ ที่ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน เพราะเห็นถึงพิษภัยว่าก่อให้เกิดมะเร็ง จึงไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดเคสผู้ป่วยก่อน เหมือนทราบว่าสารกัมมันตรังสีมีอันตราย ไม่ควรอยู่ใกล้หรือสัมผัสโดยตรง เพราะจะได้รับอันตรายและป่วยเป็นมะเร็ง เม็ดเลือด