นายเมธี อุทโยภาส ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาจากกระแสที่จะให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ในอุตสาหกรรมไทย มีการกล่าวอ้างและโจมตีถึงความเป็นอันตรายของการใช้แร่ใยหินชนิดไครโซไทล์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการใดที่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า แร่ใยหินไครโซไทล์ที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายในประเทศไทยเป็นสาเหตุทำให้เกิดผู้ป่วยหรือมีผู้ที่เสียชีวิตจากใยหินชนิดดังกล่าว ในขณะที่สิ่งที่ทุกภาคส่วนควรตระหนักคือ เรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลที่จะเกิดขึ้นแน่นอน หากมีการยกเลิกการใช้ใยหินไครโซไทล์ในประเทศไทย จะมีมูลค่าความเสียหายถึงประมาณ 5 ล้านล้านบาท
“ในนามของศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อศึกษาถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับแร่ดังกล่าว จึงได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกไปยังหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.57 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้ผู้มีอำนาจเกี่ยวข้อง มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียดรอบคอบ และอยู่บนพื้นฐานของการศึกษาถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย หากมีการเร่งรัดดำเนินการใดๆ ด้วยการรวบรัดออกกฎหมายโดยปราศจากซึ่งการศึกษาอย่างแท้จริงและครบถ้วนแล้ว เกรงว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นจะกระทบกับสังคมไทย”
สำหรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแร่ใยหินไครโซไทล์นั้น ใยหินแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ปัจจุบันในประเทศไทยมีเพียงใยหินไครโซไทล์เท่านั้นที่ถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เพื่อประโยชน์ในด้านความแข็งแรง คงทน และราคาย่อมเยาแก่ผู้บริโภค ดังนั้นการกล่าวถึง “ใยหิน” โดยไม่จำแนกและระบุให้ชัดเจนว่าเป็นใยหินชนิดใด อาจทำให้ผู้รับข้อมูลเกิดความเข้าใจผิดได้ ทั้งนี้ เพราะใยหินแต่ละชนิดมีโครงสร้างทางเคมี คุณสมบัติและความอันตรายที่แตกต่างกัน ประกอบกับการนำวัสดุไม่ว่าชนิดใดมาใช้สามารถมีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้หากได้รับในปริมาณที่มากเกินไป แต่หากมีมาตรการและวิธีการใช้งานที่เหมาะสม ก็จะทำให้สามารถใช้วัสดุนั้นอย่างปลอดภัยได้ และปัจจุบันประเทศไทยมีมาตรการรองรับในส่วนของการใช้ใยหินไครโซไทล์อยู่แล้ว
นอกจากนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นหากมีการยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ ซึ่งจะส่งผลกระทบมากที่สุดโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการผลิตกระเบื้องมุงหลังคาที่มีความเป็นจำต่อทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคครัวเรือน อาทิ ต้นทุนเส้นใยสังเคราะห์หรือวัตถุดิบทดแทนที่นำมาใช้แทนใยหินไครโซไทล์ มีราคาสูงกว่า 10 เท่า เมื่อเทียบกับราคาใยหินไครโซไทล์ เมื่อนำมาผสมในการผลิตกระเบื้องมุงหลังคาแล้ว ราคากระเบื้องสูงขึ้นกว่า 50% เท่ากับเป็นการบังคับให้ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย ต้องใช้สินค้าราคาแพงขึ้นโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ยังจะเป็นการก่อให้เกิดต้นทุนในการประกอบกิจการที่สูงขึ้นในภาคอุตสาหกรรม อันจะส่งผลให้ความสามารถแข่งขันของประเทศไทยน้อยลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบเคียงกับประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งยังคงอนุญาตให้มีการใช้ใยหินไครโซไทล์นี้
ข้อมูลจาก : banmuang.co.th
อ้างอิงจากลิงค์ : http://www.banmuang.co.th/2014/06/%E0%B8%A2%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%99-%E0%B8%84%E0%B8%AA%E0%B8%8A-%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%8B/