ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ แนะองค์กรระดับชาติ ออกมาตรการควบคุมการใช้แร่ใยหินอย่างปลอดภัย

ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ แนะองค์กรระดับชาติ ออกมาตรการควบคุมการใช้แร่ใยหินอย่างปลอดภัย

ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ แนะองค์กรระดับชาติ

ออกมาตรการควบคุมการใช้แร่ใยหินอย่างปลอดภัย

 

ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ (ซีไอซี) เผยสารก่อมะเร็งที่ระบุโดยองค์กรวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ หรือ IARC สามารถพบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันของคนเรา ล่าสุดองค์การอนามัยโลก ยืนยันเตรียมขึ้นทะเบียนอาหารแปรรูปให้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็งประเภทที่ 1 เทียบเท่า บุหรี่ แอลกอฮอล์ และ แร่ใยหิน ขณะที่การวิจารณ์ผลกระทบสารแต่ละชนิดแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงทั้งที่ระบุความเป็นอันตรายเท่ากัน ทั้งนี้วอนหน่วยงานระดับชาติแสดงความเป็นกลาง หยุดให้ร้ายใยหิน พร้อมแนะทางออกการใช้หรือการบริโภคควรต้องทำอย่างถูกวิธี เหมาะสม และนำมาใช้อย่างปลอดภัย จึงจะไม่ก่อให้เกิดโทษ

 

นายเมธี อุทโยภาส ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในบรรดาสารก่อมะเร็ง (carcinogens) ตามที่องค์กรวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ หรือ The International Agency for Cancer on Research (IARC) ระบุนั้น สามารถพบได้จาก เบนซิน แอลกอฮอล์ ยาสูบ ปลาเค็ม ฝุ่นขี้เลื่อย รังสีจากแสงอาทิตย์ ยาคุมกำเนิด บุหรี่ รวมถึง แร่ใยหิน และอื่นๆ อีกกว่าร้อยชนิด ล่าสุดแม้แต่องค์การอนามัยโลก ยังออกประกาศยืนยันเตรียมขึ้นทะเบียนอาหารแปรรูป อาทิ ไส้กรอก แฮม เบคอน ฯลฯ ให้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็งนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าสารก่อมะเร็งในกลุ่มนี้ ล้วนเป็นสิ่งที่คนเราสัมผัสและอยู่ในชีวิตประจำวันของเราแทบทุกวัน ในขณะที่ แร่ใยหิน กลับเป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็งประเภทที่ 1 ที่ถูกโจมตีอย่างหนักถึงความเป็นอันตรายร้ายแรง ทั้งที่ยังขาดความชัดเจนและไร้ซึ่งหลักฐานชี้ชัดถึงความเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

“เป็นที่น่าสังเกตว่า สารก่อมะเร็ง อย่าง แสงแดด ปลาเค็ม ที่อยู่ใกล้ตัวเรา กลับถูกเปรียบเทียบผลกระทบว่าเป็นสารก่อมะเร็งที่ไม่ร้ายแรงนักเมื่อเทียบกับสารตัวอื่นในกลุ่มเดียวกัน หรือ เราอาจกล่าวได้ว่า แสงอาทิตย์หรือปลาเค็มไม่ก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายใดๆ ต่อผู้ที่ชอบอาบแดดและผู้ที่รับประทานปลาเค็ม ในขณะที่สารที่เรียกว่า แอสเบสตอส หรือ แร่ใยหิน กลับถูกวิจารณ์ว่าเป็นสารก่อมะเร็งที่ชัดเจนและร้ายแรง ทั้งที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็งที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคมะเร็งในระดับเดียวกับ ปลาเค็ม แสงแดด หรือแม้แต่อาหารแปรรูปที่กำลังอยู่ในกระแสการถูกแบน ก็ยังมีนักวิชาการหลายฝ่ายออกมาแสดงข้อคิดเห็นต่างๆว่า อาหารแปรรูปที่ว่าอันตรายก็ยังคงบริโภคได้ เพียงแต่ต้องบริโภคอยู่ในปริมาณที่พอดีและเหมาะสม แล้วเหตุใดแร่ใยหินจึงจะใช้อย่างปลอดภัยไม่ได้” นายเมธี กล่าว

ที่ผ่านมาศูนย์ข้อมูลฯ ได้ตั้งคำถาม อยู่ตลอดเวลาว่าเหตุใด WHO จึงมุ่งเป้ามาที่แร่ใยหินไครโซไทล์ ว่ามีความเป็นอันตรายและเป็นสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งร้ายแรง ทั้งที่สารก่อมะเร็งตัวอื่นมีความเป็นอันตรายร้ายแรงและชัดเจนกว่ามาก ไม่ว่าจะเป็น เบนซิน บุหรี่ แอลกอฮอล์ อาหาร ฯลฯ ซึ่งสูดดมและบริโภคเข้าสู่ร่างกายโดยตรง และพบหลักฐานการป่วย เจ็บ ตาย ที่ชัดเจนกว่าแร่ใยหินอยู่มาก หรือจะเป็นเพียงเพราะเหตุผลที่ว่า แร่ใยหิน หรือ Asbestos มีอักษรนำหน้าเป็นตัวแรกในพยัญชนะภาษาอังกฤษจึงจัดอันดับให้ความเป็นอันตรายสูงที่ต้องกำจัดก่อน…??? หรือมีวาระซ่อนเร้นประการใด เหตุใดจึงเลือกปฏิบัติ

ทั้งนี้จากข้อมูลงานวิจัยในปี 1988 ของมหาวิทยาลัย Harvard University ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับการจัดอันดับค่าความเสี่ยงตลอดชีวิตในสถานการณ์ต่างๆ กลับพบว่า ค่าความเสี่ยงที่เป็นอันตรายสูงที่สุด คือการสูบบุหรี่ รองลงมา คือ การขับรถ อุบัติเหตุ การดื่มแอลกอฮอล์ มลพิษในอากาศ รังสีจากแสงอาทิตย์ รังสีเอ็กซ์เรย์   การกินน้ำตาลเทียม ฯลฯ ในขณะที่ความเสี่ยงจากแร่ใยหินในสิ่งแวดล้อมมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งอยู่ในระดับที่ต่ำมากๆเมื่อเทียบกับสารตัวอื่นที่กล่าวมาข้างต้น (เอกสารอ้างอิงตามตารางแนบท้าย)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการประกาศจาก IARC หรือ WHO ถึงความเป็นอันตรายต่างๆ ของสารเหล่านี้ แต่เชื่อว่าผู้บริโภคก็ยังคงต้องใช้และบริโภคอยู่ เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นทั้งต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน เพียงแต่จะบริโภคในระดับใด ก็ควรพิจารณาตามความเหมาะสม จึงอยากวอนขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ ผู้บริโภควางใจเป็นกลางและพิจารณาตามความเป็นจริง การที่ IARC ระบุว่าสารต่างๆเป็นสารก่อมะเร็ง ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องหยุดการใช้หรือหยุดการบริโภค แม้แต่อาหารธรรมดาๆที่บริโภคกันอยู่ในชีวิตประจำวันและเป็นสิ่งใกล้ตัว ก็ยังก่อให้เกิดมะเร็งได้

นายเมธี กล่าวเสริมว่า “สิ่งที่ต้องการเน้นย้ำ คือ ในเมื่อยังจำเป็นต้องใช้ หน่วยงานระดับชาติและฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรออกมาตรการการควบคุมดูแลที่ชัดเจน ใช้อย่างไร บริโภคอย่างไร จึงไม่เกิดผลกระทบ และนำมาปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสม เช่นเดียวกับ แร่ใยหิน ที่หากมีการจัดการที่ดี มีการควบคุมการใช้อย่างปลอดภัย             ก็จะสามารถอยู่กับสังคมไทยได้อย่างไร้ปัญหา ดังนั้นการหาทางออกร่วมกันที่ดีที่สุดคือ การกำหนดวิธีการควบคุมการใช้สารในกลุ่ม Carcinogens ถึงการนำมาใช้ให้ปลอดภัย ไม่ใช่ห้ามหรือยกเลิกการใช้ ทั้งที่ยังไม่มีความชัดเจนด้านปัญหาสุขภาพ อีกทั้งการยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์อาจส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและภาคประชาชนที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจากการยกเลิกหลายแสนล้านบาท ในขณะที่สารทดแทนแร่ใยหินก็ยังไม่มีการตรวจสอบหรือยืนยันว่ามีความปลอดภัยจริงหรือไม่”

 

ทั้งนี้ ในนาม ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ ยังคงแสดงจุดยืนรณรงค์ให้มีการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์อย่างปลอดภัย เนื่องจากงานวิจัยที่น่าเชื่อจากหลายสถาบันทั้งไทยและต่างประเทศ ประกอบกับการเกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ที่มาจากแร่ใยหินไครโซไทล์ยังไม่พบหลักฐานเชิงประจักษ์ อีกทั้ง ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้วัสดุที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินไครโซไทล์กันมามากกว่า 70 ปียังไม่พบปัญหาใดๆจากการใช้ สิ่งสำคัญและเป็นข้อเท็จจริงที่สุด คือ สิ่งต่างๆบนโลกที่มนุษย์สร้างขึ้นล้วนมีทั้งคุณและโทษ หากใช้มากเกินความจำเป็นก็ทำให้เกิดโทษ หากใช้ไม่พอดีก็ไม่เกิดประโยชน์  ดังนั้นต้องขึ้นอยู่กับวิธีการนำมาใช้อย่างไรให้ถูกต้อง และปลอดภัย จึงจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อผู้บริโภค นายเมธี กล่าวสรุป

 

ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ แนะองค์กรระดับชาติ ออกมาตรการควบคุมการใช้แร่ใยหินอย่างปลอดภัย

ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ แนะองค์กรระดับชาติ ออกมาตรการควบคุมการใช้แร่ใยหินอย่างปลอดภัย

 

ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ (CIC Chrysotile Information Center)

นายเมธี อุทโยภาส ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร

โทร. 089-816-4031อีเมลล์media@chrysotile-asia.com

เว็บไซต์: www.chrysotile.co.th , www.chrysotile-asia.com

Please follow and like us: