ปุจฉาแร่ใยหินขาว มหันตภัย!แร่ใยหิน

สกู๊ปหน้า1 ปุจฉาแร่ใยหินขาว มหัตภัยแร่ใยหิน

สกู๊ปหน้า 1 ปุจฉาแร่ใยหินขาว มหัตภัยแร่ใยหิน

“มหันตภัยแร่ใยหิน” ยังเป็นประเด็น ชวนให้ติดตามเพราะดูเหมือนว่า ถ้าเมื่อใดที่มีคำว่า…“แร่ใยหิน”…อย่างไรเสียก็ยังน่ากลัว เป็นแร่ธรรมชาติ ที่มีทั้งคุณอนันต์และโทษมหันต์อยู่ดี

ข้อกังขาที่ทำให้ต้องถกเถียงกันอีกครั้งสำหรับ “มหันตภัย” ต้นเหตุแห่งการเกิดโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดในมนุษย์ที่เข้าไปสัมผัส กับ “แอสเบสทอส (Asbestos)” หรือ “แร่ใยหิน”

ถึงวันนี้มีกว่า 50 ประเทศที่ยกเลิกการใช้ไปก่อนหน้านี้ และกลายเป็นที่สนใจของกลุ่มประเทศอาเซียนที่กำลังดำเนินมาตรการ “แบน” ร่วมกันกับสินค้าที่มีส่วนผสมของ “แร่ใยหิน”

จับมือยืนยันกันว่าจะใช้มาตรการ “One ban all ban” หรือเรียกง่ายๆ คือ “ถ้าแบนสินค้าตัวใดแล้ว สมาชิกก็จะแบนสินค้าชนิดนั้นทั้งหมด”

ตอกย้ำกันไปหลายครั้งหลายครา…ในประเทศไทย มติ ครม.เมื่อปี 2554 ได้มีมติให้ยกเลิกเพื่อนำไปสู่การที่ประเทศจะกลายมาเป็นประเทศแรกของภูมิภาคที่จะ “ปลอดจากแร่ใยหิน 100%” ตามที่หลายฝ่ายได้รณรงค์เคลื่อนไหวอย่างแข็งขันไปแล้วก่อนหน้านี้

จนกลายเป็นกระแสข้อถกเถียงถึง “แร่ใยหิน” ที่มีการหยิบยกเอาชนิดต่างๆ ขึ้นมาเพื่ออ้างอิงพิสูจน์ และปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจกันอย่างกว้างขวาง

“แร่ใยหินขาว” หรือ “ไครโซไทล์” หรือ “ไวท์ แอสเบสทอส” ก็เป็นอีกหนึ่งในข้อกังขา ให้ต้องกลับมาถาม มาทบทวนกันว่า…จริงหรือไม่ที่เป็นแร่ใยหินแบบปลอดภัย 100% ไม่ก่อให้เกิด “มะเร็ง”…ในมนุษย์ที่เข้าไปสัมผัส และน่าสนใจอีกว่า…ประเทศไทยยังคงให้มีการนำเข้า แม้จะมีการยกเลิกการนำเข้า “แร่ใยหิน” ชนิด “ครอซิโดไลท์” ที่มีอันตรายมากไปแล้วก่อนหน้านี้ก็ตาม

คำถามมีว่า…“แร่ใยหินขาว” ที่ยังคงแพร่หลายในปัจจุบันและเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไทยยังไม่ปลอดแร่ใยหิน 100% เป็นเพราะเหตุใดกันแน่?

นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ผอ.สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า แร่ใยหินแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ แอมฟิโบล และเซอร์เพนไทน์

โดยกลุ่มแอมฟิโบล ยังแบ่งย่อยออกได้เป็น 5 ชนิด ได้แก่ ครอซิโดไลท์, อะโมไซท์, ทรีโมไบท์, แอนโธฟิลไลท์ และแอคทิโนไลท์ ส่วนกลุ่มเซอร์เพนไทน์ ก็ได้แก่ ไครโซไทล์ หรือไวท์ แอสเบสทอส

ซึ่งแร่ใยหินแต่ละชนิด ที่กลายเป็นข้อถกเถียงว่ามีอันตรายเท่ากันหรือไม่ ข้อมูลที่ตรงกันขององค์การอนามัยโลกได้ประกาศจุดยืนต่อแร่ใยหินร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ยืนยันชัดเจนด้วยบทพิสูจน์แล้วว่า… “แร่ใยหินทั้งหมดทุกประเภทรวมถึงแร่ใยหินขาวที่มีการกล่าวอ้างถึงมีอันตรายเหมือนกันทั้งหมด คือเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งสำหรับผู้เข้าไปสัมผัส”

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องไปดูให้ถ้วนถี่ โดยเฉพาะจำนวนผู้ป่วยในประเทศไทย ภายหลังมติ ครม.เมื่อปี 2554 ที่ยกเลิกแร่ใยหินประเภท “ครอซิโดไลท์” ไปแล้ว และยังมีการนำเข้าแร่ใยหินขาว แต่กลับยังมีผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มคนทำงานที่เข้าไปสัมผัสกับแร่ใยหิน มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งอย่างต่อเนื่อง

นพ.สมเกียรติ บอกว่า ปัจจุบันตรวจพบผู้ป่วยโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด 4 ราย และที่เป็นปอดอักเสบ 7 ราย ซึ่งในการวินิจฉัยโรคมะเร็งจากเยื่อหุ้มปอด เช็กตามประวัติเป็นผู้สัมผัสกับแร่ใยหินชัดเจนแล้ว 1 ราย (ข้อมูลจาก รพ.โรคทรวงอก)

นอกจากนี้ ทางสำนักฯได้เข้าตรวจโรงงานต่างๆ พบมีกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอีกหลายราย  ซึ่งได้ทำรายงานไปยังกรมโรงงานกระทรวงอุตสาห-กรรมให้ทราบแล้ว

ข้อมูลสะท้อนความจริงว่าเมื่อประเทศไทยไม่นำเข้าแร่ใยหินแล้ว มีเพียงแร่ใยหินชนิดเดียวที่ถูกอ้างว่านำมาทดแทนแร่ใยหินชนิดอันตรายในอดีต แล้วผู้ป่วยที่…ป่วยจริง…เป็นมะเร็งจริง เป็นเพราะอะไรกันแน่

สมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม เสริมว่า บ้านเราระบบการวินิจฉัยยังมีเงื่อนไขที่ไม่เอื้ออยู่หลายประการ โดยระยะเวลาการเจ็บป่วย 15-20 ปี เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเป็นมะเร็งไม่สามารถรู้ตัวเลยว่าสัมผัสแร่ใยหินเข้าไปในร่างกายหรือไม่
“จากข้อมูลของการป่วยเกี่ยวกับผู้สัมผัสแร่ใยหิน ซึ่งพบแล้วในประเทศไทย…เป็นคนงานก่อสร้าง น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญ…ขึ้นชื่อว่าแร่ใยหิน ไม่ว่าจะเป็นประเภทใดล้วนมีอันตรายมีผลต่อการเกิดโรคมะเร็งเหมือนกัน…

การออกมาให้ข้อมูลที่บิดเบือนเกี่ยวกับแร่ใยหินขาว อาจเป็นเพียงการออกมาปกป้องประโยชน์ทางธุรกิจ โดยไม่คำนึงถึงผู้บริโภค”

สมบุญ ทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันโรงงานผลิตที่ใช้แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบในสินค้ามีเหลือเพียงไม่กี่ราย ในขณะที่รายอื่นๆเริ่มหันกลับไปใช้สารตัวอื่นที่ไม่เป็นอันตรายทดแทน…ซึ่งที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่ราย แต่กลับส่งผล กระทบต่อคนทั้งประเทศ

วิทยา แจ่มกระจ่าง ประธานสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลอีกว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วย 4-5 ราย และกรณีที่เกิดขึ้นมีการฟ้องร้องเป็นคดีแล้ว โดยมีการยื่นเรื่องผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งทั้งหมดนี้ยืนยันชัดเจนว่า “แร่ใยหินขาว” …ก็มีผลเช่นเดียวกับ “แร่ใยหิน” อื่นๆ

แต่ท้ายที่สุด…มักจะถูกนำมาเป็นช่องว่างที่จะเอื้อประโยชน์ต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ

ถึงตรงนี้จะไม่ให้อีกฝ่ายชี้แจงดูจะเอนเอียงไปสักหน่อย มานพ เจริญจิตต์ ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ ชี้แจงว่า ชนิดแร่ใยหินที่ใช้ในโรงงานที่อิตาลีที่เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1907 กว่าร้อยละ 10 เป็นแร่ใยหินกลุ่มแอมฟิโบลชนิดครอซิโดไลท์ มีสีฟ้า

ซึ่งก็คือ…แร่ใยหินชนิดที่เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นอันตรายมากที่สุด จากการทดลองแร่ใยหินครอซิโดไลท์ใช้เวลานานถึงปีกว่า (536 วัน) ในการกำจัดจำนวนครึ่งหนึ่งของปริมาณที่ได้รับเข้าไปออกจากปอด ในการชันสูตรศพของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งผนังเยื่อหุ้มปอด พบเพียงแร่ใยหินกลุ่มแอมฟิโบลเท่านั้น

การตรวจสอบอากาศโดยหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขของเมือง พบเส้นใยกลุ่มแอมฟิโบลปะปนอยู่ในอากาศมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์

“ในประเทศไทยนั้น ไม่มีการใช้แร่ใยหินกลุ่มแอมฟิโบล ใช้แต่แร่ไครโซไทล์ซึ่งเป็นสีขาวเท่านั้น” มานพ ว่า “แร่ไครโซไทล์ที่นำมาใช้ในเมืองไทยมีความแตกต่างจากการใช้แร่ใยหินในประเทศอิตาลีที่เป็นเหตุให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตเกิดเป็นคดีความ…อุตสาหกรรมเมืองไทยใช้เพียงแร่ไครโซไทล์บริสุทธิ์ไม่มีสิ่งเจือปน”

ซึ่งแร่ไครโซไทล์ เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นเส้นใยที่มีอันตรายต่ำมาก โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีมาตรการควบคุมการใช้อย่างปลอดภัยตามระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรม

ประเด็น “แร่ใยหินขาว” จะเป็นเรื่องใหญ่แค่ไหนคงต้องติดตามดูกันต่อไป เพราะชีวิตมนุษย์ถ้าต้องล้มหายตายจากไปเพราะธุรกิจเห็นแก่ได้ของมนุษย์ด้วยกันเอง แม้จะเป็นแค่ชีวิตเดียวก็ไม่ใช่เรื่องเล็กๆที่ยอมได้

“แร่ใยหินขาว” คงต้องมีหน่วยงานกลางเข้ามาตรวจสอบ หามาตรการที่ชัดเจนในการควบคุมดูแล จะเอายังไงกันแน่กับมติ ครม.ที่ยกเลิกการใช้แร่ใยหินอย่างเด็ดขาดแบบไม่สะเด็ดน้ำ.

 

Thai Rath Mar 20 P5 (1)

Please follow and like us:

ใส่ความเห็น