เครือข่ายภาคประชาชน สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ มูลนิธิเพื่อคุณธรรม เครือข่ายชุมชนเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและเครือข่ายแรงงานผู้ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกการใช้แร่ ไครโซไทล์ ร่วมกับ วิทยุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดสัมมนาเชิงวิชาการหัวข้อ “ไครโซไทล์ แร่ใยหินที่ไทยต้องชัดเจน” เพื่อเป็นเวทีในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องแร่ไครโซไทล์ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญและตระหนักถึงผลกระทบต่อประชาชนทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจที่จะตามมาหากมีการยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ไครโซไทล์
นางศรีจันทร์ อุทโยภาส อดีตผู้อำนวยการสำนักควบคุมวัตถุอันตราย และ อดีตผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีน้ำและสิ่งแวดล้อมโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า แร่ใยหินสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ แร่ไครโซไทล์ (Chrysotile asbestos) และแร่แอมฟิโบล (Amphibole asbestos) สำหรับแร่กลุ่มแอมฟิโบลถูกห้ามใช้ทั่วโลกเนื่องจากมีความเป็นอันตรายสูง และไม่มีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว ส่วนแร่ไครโซไทล์ ประเทศไทยมีการใช้กันอยู่ และใช้มายาวนานกว่า 70 ปี สำหรับประเทศไทยนั้น ในการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไปมีการสัมผัสกับผลิตภัณฑ์แร่ไครโซไทล์ซีเมนต์ที่มีความหนาแน่นสูงเท่านั้น เช่น ท่อซีเมนต์ และกระเบื้องมุงหลังคา มีงานวิจัยจำนวนมากสนับสนุนว่าระดับที่ผลิตภัณฑ์แร่ไครโซไทล์ซีเมนต์อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการทำงานและสาธารณชนนั้นเป็นระดับที่ต่ำมาก
“ที่ผ่านมามีการตรวจสอบโดยเก็บตัวอย่างอากาศที่เกิดจากการมุงกระเบื้องและพื้นที่ที่มีการรื้อถอนกระเบื้องที่มีแร่ใยหินพบว่ายังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานไม่ก่อให้เกิดอันตราย ประกอบกับหลังคาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมี อายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 40 ปี หากนำวัสดุทดแทนที่มาจาก PVA หรือกลุ่มสารตั้งต้นปิโตรเลียมเข้ามาแทนที่ ซึ่งเราก็ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าจะปลอดภัยจริงหรือไม่มี แต่ที่น่าเห็นใจผู้ใช้คือวัสดุทดแทนอย่าง PVA มีอายุการใช้งานเพียง 10 ปีโดยประมาณ ฉะนั้นหากต้องเปลี่ยนกระเบื้องที่มีอายุการใช้งานจากเดิม40-50 ปี มาเป็นวัสดุทดแทน นั่นหมายถึง เราต้องเตรียมเงินค่ากระเบื้อง ค่ารื้อถอน และสิ่งที่รัฐยังไม่ได้คำนึงถึงคือเรื่องของขยะที่จะเกิดขึ้นอีกประมาณ 4 เท่าตัวของอายุการใช้งาน”
ดร.สมฤดี สาธิตคุณ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า แร่ไครโซไทล์(Chrysotile) คือแร่ใยหินธรรมชาติ (Asbestos) เป็นชื่อของกลุ่มแร่ใยหินซิลิกอน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นเส้นใย และมีคุณสมบัติทนทานต่อแรงดึงและไม่ไหม้ไฟทั้งยังทนทานต่อฤทธิ์ของสารเคมีเกือบทุกชนิด เนื้อเส้นใยมีความยืดหยุ่นและทนแรงตึงได้ดีมาก จึงนำมาใช้ประโยชน์เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ นอกจากนี้เส้นใยไครโซไทล์ที่มีความแข็งแรงสูงนี้ สามารถใช้เคลือบพื้นผิวภายในเพื่อเสริมแรงได้ดีกับซีเมนต์หรือวัสดุอื่นๆ ได้อีกด้วย ซึ่งแร่ไครโซไทล์ดังกล่าวเมื่อผสมเข้ากับซีเมนต์แล้วจะยึดเกาะกับซีเมนต์เป็นอย่างดีส่งผลให้เส้นใยนั้นไม่สามารถหลุดลอยออกมาในบรรยากาศจากการใช้อย่างปกติ
“แร่ไครโซไทล์มีลักษณะต่างกับแร่ใยหินในกลุ่มแอมฟิโบล คือมีลักษณะเป็นเส้นใยที่โค้ง อ่อนนุ่มและมีความยืดหยุ่น เส้นที่มีคุณภาพดีจะมีการเรียงตัวของแร่เป็นชั้นๆสวยงามสามารถนำมาปั่นเป็นเส้นคล้ายเส้นไหมพรมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น นำเส้นใยที่มาทำเป็นเสื้อผ้า ถุงมือ รวมถึงมาใช้เป็นส่วนประกอบของชุดนักดับเพลิง เนื่องจากมีคุณสมบัติทนความร้อน ทนไฟ โดยไครโซไทล์มีจุดหลอมเหลวอยู่ที่ประมาณ 1,500 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ยังนำมาทำเป็นผ้าใบ ผ้าสำหรับใช้กรองสารเคมี นำมาผสมในซีเมนต์ใช้ในวัสดุก่อสร้าง เช่นกระเบื้อง รวมถึงเป็นส่วนผสมในกาว แผ่นปูผนังห้อง หรือท่อน้ำที่ต้องใช้แรงดันสูงๆ ส่วนเส้นใยที่ทอไม่ได้จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆต่อไป”
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์ สมชัย บวรกิตติ แพทย์ระบบทางหายใจ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปี ที่มีการนำเข้าใยหินมาใช้ในอุตสาหกรรมในประเทศไทย ยังไม่เคยมีการรายงานผู้ป่วยด้วยเหตุแร่ใยหินที่มีหลักฐานทางวิชาการที่น่าเชื่อออกมายืนยันแต่อย่างใด สำหรับในประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดเมโสเธลิโอมาครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2511 ถึงปี 2542 จำนวน 36 ราย ซึ่งผู้ป่วยทุกรายไม่มีหลักฐานใดๆทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าเป็นอาการป่วยที่เกิดจากการสัมผัสแร่ใยหิน รวมทั้งรายล่าสุดที่พบด้วย
“ที่ผ่านมาตั้งแต่มีการศึกษาและทำวิจัยมาในประเทศไทยยังไม่เคยพบผู้ป่วยที่เกิดโรคจากแร่ใยหินไครโซไทล์แม้แต่รายเดียว ซึ่งหากจะกล่าวถึงสิ่งที่เป็นพิษต่อสุขภาพบนโลกนี้มีอยู่มากมาย เช่น การสูบบุหรี่แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ประมาณ 20,000 คน ที่ผ่านมามีนักวิชาการจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจเรื่องไครโซไทล์อย่างชัดเจน แต่กลับเชื่อผลวิจัยของต่างชาติ ทั้งที่แพทย์ไทยที่ทำการศึกษาอย่างจริงจังในเรื่องนี้ยืนยันแล้วว่าไม่เคยพบผู้ป่วยเสียชีวิตจากแร่ใยหินไครโซไทล์”
นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ มีสมาชิกของสมาคมอยู่ในภูมิภาคต่างๆ จำนวน 11 แห่งทั่วประเทศ โดยสมาคมมีหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรให้ก้าวหน้ามีคุณภาพตามความต้องการของตลาด ซึ่งลักษณะของฟาร์มที่ใช้เลี้ยงสุกรโดยทั่วไปใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ไครโซไทล์เป็นวัสดุในการทำโรงเรือนทั้งสิ้น อาทิ กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องแผ่นเรียบ เนื่องจากมีคุณสมบัติแข็งแรง ทนแดด ทนฝน และมีราคาถูก เหมาะแก่การใช้เป็นโรงเรือนสำหรับเลี้ยงสุกร ซึ่งหากมีการประกาศห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ไครโซไทล์จะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ผู้เลี้ยงสุกรอย่างมาก เนื่องจากผู้ประกอบการต้องทำการรื้อถอนโรงเรือนเลี้ยงสุกรทั้งหมดทั่วประเทศ อาจกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ และผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนเป็นเงินมูลค่ามหาศาล จึงอยากขอความเห็นใจจากรัฐบาลให้ทบทวนแผนการระงับการนำเข้าแร่ใยหินดังกล่าวใหม่อีกครั้ง
“ในฐานะนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ยอมรับว่าร้อยละ 90 ของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรใช้หลังคากระเบื้องใยหินทั้งหมด บางรายใช้กระเบื้องที่มีส่วนผสมของไครโซไทล์มาทำเป็นรางน้ำและรางอาหารสำหรับสุกร และที่ผ่านมาไม่เคยพบว่าแร่ดังกล่าวจะเป็นปัญหากับกลุ่มเกษตรกร หากมีการประกาศยกเลิกจริงใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องการรื้อถอนและการเปลี่ยนกระเบื้อง ซึ่งเชื่อว่าเกษตรผู้เลี้ยงสุกรไม่ยอมอย่างแน่นอน และทางสมาคมคงต้องหาแนวทางป้องกันเพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรได้รับผลกระทบน้อยที่สุด”
ดร. บรรจง โซ๊ะมณี รองประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และ ประธานมูลนิธิเพื่อคุณธรรม กล่าวว่า ในฐานะผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อคุณธรรมและผู้ดูแลชุมชนโดยรอบ เห็นว่าเรื่องการห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ไครโซไทล์เป็นเรื่องที่ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งหากแร่ดังกล่าวเป็นอันตรายจริงก็น่าจะเป็นปัญหานานแล้ว ประกอบกับปัจจุบัน 90% ของบ้านเรือนหรืออาคารสถานที่ต่างก็ใช้กระเบื้องในการมุงหลังคาที่มีแร่ไครโซไทล์กันมาเป็นเวลานาน เนื่องจากมีความทนทานมาก และราคาถูก แล้วเหตุใดจึงต้องมีการยกเลิกเพื่อเปลี่ยนมาใช้กระเบื้องที่ทำจากเยื่อกระดาษแทน ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องจึงควรต้องทำการทบทวนและศึกษาข้อเท็จจริงดังกล่าวอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคประชาชนที่อาจได้รับความเดือดร้อนจากการยกเลิกแร่ไครโซไทล์
“คนไทยกำลังตกเป็นเหยื่อของกลุ่มคนที่กำลังมุ่งหาประโยชน์เพื่อหวังทำลายความถูกต้องโดยไม่คำนึกถึงผลกระทบและความเดือดร้อนของประชาชนในประเทศ เพียงเพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ประเด็นการยกเลิกแร่ ไครโซไทล์จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนไม่ได้รับทราบข้อเท็จจริง และถือเป็นการยัดเยียดให้ประชาชนต้องซื้อสินค้าแพงขึ้นโดยไม่มีสิทธิ์เป็นผู้เลือก”