แร่ใยหิน ไครโซไทล์ใช้ได้อย่างปลอดภัย

เลิกแร่ใยหินไครโซไทล์ในไทย ต้องคิดถึงประโยชน์ชาติมากกว่าธุรกิจ

ยังเป็นเรื่องถกเถียงกันไม่จบ และยังไม่มีข้อสรุปสุดท้ายถึงแนวทางการยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ในประเทศไทยเพราะมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์(Chrysotile Information Center) องค์กรที่ยึดมั่นว่าแร่ใยหินไครโซไทล์ยังมีความจำเป็น ได้ยื่น
หนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องมีการ พิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียดรอบคอบ และ
อยู่บนพื้นฐานของการศึกษาถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน ให้ความเป็นธรรมกับ ทุกฝ่ายและเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา
นายเมธี อุทโยภาส ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ ประเทศไทย กล่าวว่า กระแสที่จะให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ในอุตสาหกรรมไทย มีการกล่าวอ้างและโจมตีถึงความเป็นอันตรายของการใช้แร่ใยหินชนิดไครโซไทล์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการใดที่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าแร่ใยหินไครโซไทล์ที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายในประเทศไทยเป็นสาเหตุทำให้เกิดผู้ป่วยหรือมีผู้ที่เสียชีวิตจากใยหินชนิดดังกล่าว
แต่ที่จะเห็นได้ชัดเจนคือหากยกเลิกใช้ใยหินไครโซไทล์ในประเทศไทย จะมีมูลค่าความเสียหายถึงประมาณ 5 ล้านล้านบาทกระทบต่อเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล
ทั้งนี้จากการศึกษาข้อเท็จจริงขององค์กรเกี่ยวกับแร่ใยหินไครโซไทล์นั้น ใยหินแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ปัจจุบันในประเทศไทยมีเพียงใยหินไครโซไทล์เท่านั้นที่ถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เพื่อประโยชน์ในด้านความแข็งแรง คงทน และราคาย่อมเยาแก่ผู้บริโภค
ดังนั้น การกล่าวถึง “ใยหิน”โดยไม่จำแนกและระบุให้ชัดเจนว่าเป็นใยหินชนิดใด อาจทำให้ผู้รับข้อมูลเกิดความเข้าใจผิดได้ ทั้งนี้ เพราะใยหินแต่ละชนิดมีโครงสร้างทางเคมี คุณสมบัติและความอันตรายที่แตกต่างกัน ประกอบกับการนำวัสดุไม่ว่าชนิดใดมาใช้สามารถมีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้หากได้รับในปริมาณที่มากเกินไปแต่หากมีมาตรการและวิธีการใช้งานที่เหมาะสม ก็จะทำให้สามารถใช้วัสดุนั้นอย่างปลอดภัยได้ และปัจจุบันประเทศไทยมีมาตรการรองรับในส่วนของการใช้ใยหินไครโซไทล์อยู่แล้ว
ซึ่งประเทศไทยมีการนำเข้าใยหินประเภทต่างๆ จากประเทศรัสเซีย ที่มีเหมืองแร่ขนาดใหญ่ มาใช้ในอุตสาหกรรมตั้งแต่ปีพ.ศ.2481 ซึ่งเป็นเวลานานถึง 76 ปี อย่างไรก็ตาม มีรายงานข้อมูลทางการแพทย์ของศาสตราจารย์ นายแพทย์ อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ และศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ ผู้ศึกษาเรื่องโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากการสัมผัสฝุ่นใยหินในประเทศไทยมานานกว่า30ปี ที่ได้เขียนบทความทางวิชาการระบุว่า ตลอดระยะเวลานานกว่า 30ปีที่มีการนำเข้าใยหินมาใช้ในอุตสาหกรรมในประเทศไทย ยังไม่เคยมีการรายงานผู้ป่วยด้วยโรคเหตุแร่ใยหินที่มีหลักฐานทางวิชาการที่น่าเชื่อถือยืนยันเลย
ในขณะที่ปัจจุบันยังไม่มีวัสดุทดแทนใดที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าใยหินไครโซไทล์ที่จะนำมาใช้ในอุตสาหกรรมได้ อีกทั้งวัสดุทดแทนที่มีคุณสมบัติใกล้เคียง เช่น ซิลิก้า(Silica) โพลีไวนิลแอลกอฮอล์ (Polyvinyl alcohol : PVA) ก็ยังไม่มีการศึกษาถึงความปลอดภัยในการใช้งานและผลกระทบต่อสุขภาพอย่างแท้จริง
นอกจากนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นหากมีการยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ ซึ่งจะส่งผลกระทบมากที่สุดโดยตรงต่อ

อุตสาหกรรมการผลิตกระเบื้องมุงหลังคาที่มีความจำเป็นต่อทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคครัวเรือนแล้วหน่วยงานของรัฐต่างๆ อาจตกเป็นจำเลยในคดีความต่างๆ ทั้งจากภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบนี้ และจากประชาชนทั่วประเทศ ในฐานะผู้บริโภค ซึ่งอาจฟ้องร้องว่าได้รับผลกระทบหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จากสิ่งปลูกสร้างของราชการที่ได้ใช้กระเบื้องแบบเดิมนี้มาแล้วเป็นเวลาหลายสิบปี และใช้อยู่ทั่วประเทศ กรณีเหล่านี้ได้เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจมีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 5 ล้านล้านบาท

ข้อมูลจาก : Riskcomthai.org

อ้างอิงจากลิงค์ : http://www.riskcomthai.org/en/news/newspaper-detail.php?id=25850&pcid=71&pcpage=538

 

Please follow and like us: