สั่งชะลอยกเลิกการใช้แร่ใยหิน

สั่งชะลอยกเลิกการใช้ ‘แร่ใยหิน’

คณะรัฐมนตรีตีกลับการยกเลิกใช้แร่ใยหิน ระบุผลกระทบด้านสุขภาพสธ.ยังไม่ชัดเจน ส่งผลแผนก.อุตฯสะดุดตาม “จักรมณฑ์”เผยไม่ต้องเร่งรีบ แต่ยกเลิกใช้ในสินค้า 6 รายการแน่ตามกรอบ 2-5 ปี เผยต้นปีหน้าเตรียมเสนอครม.พิจารณา ขณะที่การแก้ปัญหาลักลอบส่งฝุ่นแดงออกไปขายต่างประเทศ ล่าสุดบีโอไอ ไฟเขียวตั้งโรงงานรีไซเคิลในประเทศแล้ว ด้วยงบลงทุนกว่า 3 พันล้านบาท 

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ถึงความคืบหน้าในการยกเลิกใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ว่า จากที่กระทรวงสาธารณสุขได้นำเรื่องเสนอกับคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาให้มีการยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ เนื่องจากเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ในการเป็นต้นเหตุให้เกิดมะเร็งปอดนั้น โดยทางครม.พิจารณาแล้วเห็นว่าผลกระทบต่อสุขภาพยังไม่ปรากฏเป็นที่ชัดเจน และยังไม่มีการพิสูจน์ว่ามีผู้เสียชีวิตจากการใช้แร่ใยหิน เหมือนกับกรณีการสูบบุหรี่ จึงได้ให้กระทรวงสาธารณสุขกลับไปศึกษาถึงผลกระทบที่ชัดเจน และนำกลับมาเสนอครม.อีกครั้งหนึ่ง

สั่งชะลอยกเลิกการใช้แร่ใยหิน
สั่งชะลอยกเลิกการใช้แร่ใยหิน

ทั้งนี้ จากข้อพิจารณาของครม.ดังกล่าว ทำให้แผนการเสนอยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ ของกระทรวงอุตสาหกรรมต่อครม.ที่จะยกเลิกแร่ใยหินในสินค้า 6 รายการ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกกระเบื้องแผ่นเรียบและกระเบื้องยางปูพื้น กำหนดให้แยกเลิกใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบภายใน 2 ปี และกลุ่มที่ 2 กลุ่มกระเบื้องมุงหลังคา ผ้าเบรก และคลัตช์ ท่อซีเมนต์ใยหิน กำหนดให้ยกเลิกใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบภายใน 5 ปี ต้องสะดุดลงด้วย เพื่อรอผลการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพที่ชัดเจน นำมาประกอบในแผนที่จะเสนอยกเลิกการใช้แร่ใยหินต่อครม.
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแผนการยกเลิกการใช้แร่ใยหินจะไม่ทันในช่วงปี 2557 ก็ตาม เพราะยังไม่ใช่เรื่องเร่งรีบ แต่ทางกระทรวงอุตสาหกรรม เห็นว่า การยกเลิกใช้แร่ใยหินในสินค้าดังกล่าว ยังมีความจำเป็นอยู่ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการค้าโลก ที่บางประเทศมีการยกเลิกใช้แร่ใยหินแล้ว และห้ามนำเข้าสินค้าที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ก็จะยังยึดตามกรอบที่จะให้มีการยกเลิกใช้แร่ใยหินในสินค้าดังกล่าว 2-5 ปีอยู่ ซึ่งเวลาดังกล่าวนี้ มองว่าผู้ประกอบการมีระยะเวลาที่จะเตรียมตัวหรือปรับปรุงเครื่องจักรที่จะไปหาแร่อื่นมาทดแทนได้ โดยประมาณช่วงต้นปีหน้า ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะนำเรื่องการยกเลิกใช้แร่ใยหิน เสนอครม.พิจารณา
ส่วนการแก้ปัญหาการกำจัดฝุ่นจากเตาหลอมหรือฝุ่นแดง ที่เรื้อรังมานาน นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ระงับการส่งออกฝุ่นจากเตาหลอมเหล็กหรือฝุ่นแดง ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 เป็นต้นมา เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของอนุสัญญาบาเซล ที่เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด เพื่อแก้ปัญหาการลักลอบนำของเสียอันตรายไปทิ้ง หรือกำจัดทำลายในประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ทำให้ที่ผ่านมาผู้ประกอบการผลิตเหล็กจะต้องเก็บฝุ่นเหล็กไว้เอง เนื่องจากโรงงานกำจัดมีอยู่ค่อนข้างน้อยไม่เพียงพอ และกลายเป็นปัญหาให้มีการลักลอบส่งออกฝุ่นแดงออกไปนอกประเทศอย่างผิดกฎหมาย และมีการลักลอบทิ้งในพื้นที่สาธารณะ
ทั้งนี้ ถือเป็นความโชคดีของประเทศไทย ที่มีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาตั้งโรงงานรีไซเคิลฝุ่นแดง โดยล่าสุดทางบริษัท สยามเมทอล รีไซเคิล จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างนักลงทุนไทยและนอร์เวย์ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอแล้ว โรงงานแห่งนี้จะตั้งอยู่ในนิคมเหมราช จังหวัดชลบุรี ใช้เงินลงทุนราว 3 พันล้านบาท โดยมีกำลังการผลิตหรือรีไซเคิลได้ประมาณ 3.6 หมื่นตันต่อปี คาดว่าจะก่อสร้างโรงงานแล้วเสร็จได้ประมาณต้นปี 2560
“เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากรอ.ได้ทำหนังสือไปทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ที่เป็นรายละเอียดของเงื่อนไขการตั้งโรงงาน ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาของกนอ.ในการอนุญาตตั้งโรงงาน ซึ่งเป็นการประสานงานให้โรงงานเกิดขึ้นได้โดยเร็ว”
สำหรับโรงงานแห่งนี้ ถือว่าเป็นโรงงานขนาดใหญ่ จากปัจจุบันมีเพียงไม่กี่โรงงานที่กำจัดฝุ่นแดงได้ แต่เป็นโรงงานขนาดเล็กๆ จึงทำให้มีฝุ่นแดงตกค้างในการกำจัดเป็นจำนวนมาก จากปัจจุบันที่จะมีฝุ่นแดงออกมาจากเตาหลอมประมาณ 9 หมื่น- 1 แสนตันต่อปี ซึ่งการแก้ปัญหาที่ผ่านมาจะมีการพิจารณาให้มีการส่งฝุ่นแดงออกไปต่างประเทศเป็นล็อตๆ เท่านั้น จึงทำให้มีปัญหาการลักลอบส่งฝุ่นแดงไปจำหน่ายในช่วงที่ผ่านมา เมื่อมีโรงงานเกิดขึ้นเชื่อว่าปัญหานี้จะหมดไปได้

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 3,012  วันที่  25 – 27 ธันวาคม  พ.ศ. 2557

Please follow and like us: