'ไครโซไทล์'ลั่นผลศึกษามสธ.ไม่ชัด

ไครโซไทล์ ลั่นผลศึกษามสธ.ไม่ชัดเลิกใช้แร่ใยหินขัด ก.ม. ผลกระทบผู้บริโภค

ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ ร้อง “จักรมณฑ์” ตัดสินใจยกเลิกใช้แร่ใยหินอย่างรอบคอบ หลังผลการศึกษาของมสธ.ตอบโจทย์ไม่ชัดเจน ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และหาแนวทางอื่นรองรับ มุ่งธงแต่ให้รัฐยกเลิก ยันหากมีการประกาศใช้อาจขัดต่อหลักของกฎหมาย ส่งผลกระทบต่อประชาชนต้องจ่ายค่าเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาสูงถึง 4 แสนล้านบาท ขณะที่กรอ.ตอบรับฟังข้อมูลหลายด้านประกอบ

นายเมธี อุทโยภาส ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ทำหนังสือถึงนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่ากระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ในการจัดทำแผนยกเลิกการใช้แร่ใยหินในผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ จัดทำโดยมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ที่กระทรวงอุตสาหกรรมใช้เป็นข้อมูลและแผนนำไปสู่การยกเลิกแร่ใยหิน แม้ว่ามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 จะเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุข ไปดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพให้ชัดเจน และนำกลับมาสู่การพิจารณาอีกครั้งก็ตาม
แต่เนื่องจากว่าทางกระทรวงอุตสาหกรรม ยังยึดข้อมูลการศึกษาเดิมอยู่ โดยมีแผนที่จะยกเลิกใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ กับสินค้า 6 รายการ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกกระเบื้องแผ่นเรียบและกระเบื้องยางปูพื้น กำหนดให้ยกเลิกใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบภายใน 2 ปี และกลุ่มที่ 2 กลุ่มกระเบื้องมุ่งหลังคา ผ้าเบรก และคลัตช์ ท่อซีเมนต์ใยหิน กำหนดให้ยกเลิกใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบภายใน 5 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 เกี่ยวกับมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน
โดยทางศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับแร่ใยหินในประเทศไทย เห็นว่าข้อมูลที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม จ้างให้มสธ.ศึกษานั้น ยังมีความคลาดเคลื่อนไม่สมบูรณ์ และขัดหลักทางกฎหมาย ไม่สามารถนำไปใช้ในการอ้างอิงได้ เนื่องจากไม่มีการทำการศึกษาว่าผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบมีความเป็นอันตรายต่อสุขภาพจริงหรือไม่ และกระทบต่อสุขภาพของประชาชนกลุ่มใด แต่กลับมุ่งพิจารณาเพียงว่ารัฐจะยกเลิกการนำเข้าและการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบอย่างไรและเมื่อใดเท่านั้น และยังยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทดแทนผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบนั้นไม่สามารถทดแทนได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งในแง่ของคุณภาพและราคา อีกทั้งอ้างว่าได้ศึกษาการควบคุมแร่ใยหินไครโซไทล์และแนวทางลด ละ เลิก ใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ในการผลิตผลิตภัณฑ์ของต่างประเทศ แต่ไม่ปรากฏว่ามีการอ้างอิงเอกสารทางวิชาการแต่อย่างใด จึงไม่สามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผลการศึกษาได้ ประกอบกับไม่มีการอ้างอิงผลการศึกษาหรืองานวิจัยเกี่ยวกับอันตรายของแร่ใยหินไครโซไทล์ที่มีต่อสุขภาพของคนไทย
นายเมธี กล่าวอีกว่า  นอกจากนี้ ผลการศึกษามุ่งนำเสนอเพียงแนวทางการป้องกันอันตรายที่มีความรุนแรงมากที่สุด ที่จะให้ภาครัฐยกเลิกการใช้แร่ใยหิน โดยไม่ได้เสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงหรือพัฒนาการป้องกันอันตรายจากแร่ใยหินไครโซไทล์โดยวิธีการอื่น ที่อาจให้ประสิทธิผลเท่าเทียมกัน โดยมีต้นทุนต่อภาครัฐที่น้อยกว่า เช่น การกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยในโรงงาน เพื่อคุ้มครองคนงาน เป็นต้น ประกอบกับไม่ได้จัดลำดับความสำคัญของผลิตภัณฑ์แต่ไปพิจารณาความเสี่ยงต่อสุขภาพเป็นเกณฑ์ เพียงมุ่งให้เร่งรัดการยกเลิกแต่เพียงการนำเข้าและการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินอย่างเดียว โดยไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยืนยันถึงความเป็นอันตรายต่อสุขภาพของแร่ใยหิน หรือความปลอดภัยของวัสดุทดแทน
ที่สำคัญการนำผลการศึกษามาใช้ขัดหลักทางกฎหมาย อันเป็นหลักการพื้นฐานของการกระทำทางปกครอง ในการก้าวล่วงสิทธิหรือสร้างภาระให้แก่ประชาชน แม้จะมีกฎหมายอนุญาตให้ทำได้ก็ตาม แต่รัฐต้องดำเนินการนั้นโดยพอสมควรแก่เหตุ ซึ่งการยกเลิกแร่ใยหินไครโซไทล์ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยไม่ได้ประเมินมาตรการอื่นที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยกว่า อีกทั้ง การยกเลิกการนำเข้าการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบจะส่งผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง เช่น ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาของประชาชนทั้งประเทศ ที่อาจมีมูลค่าถึง 4.06 แสนล้านบาท รัฐอาจสูญเสียมูลค่าการส่งออกสินค้าประมาณปีละ 700 ล้านบาท ถึง 2 พันล้านบาท ผู้ผลิตต้องลงทุนในการเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งอาจส่งผลให้มีการลดการจ้างงานจำนวนหลายพันอัตราได้
นอกจากนี้ การบังคับให้ผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนซึ่งมีคุณภาพด้อยกว่าและราคาแพงกว่านั้น ก็ยังไม่มีงานวิจัยใดๆ ยืนยันว่าสารทดแทนจะมีความปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ
แหล่งข่าวจากระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว ได้มีการนัดทางศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์เข้าหารือเพื่อชี้แจงข้อมูลดังกล่าวแล้วในวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาแผนยกเลิกแร่ใยหินของกรอ.ต่อไป

Please follow and like us: