สกู๊ปหน้า 1 ไครโซไทล์ กรณีศึกษาในต่างแดน

บทเรียนเลิกใช้แร่ใยหินเมืองผู้ดี

จากมติคณะรัฐมนตรี 12 เมษายน 2554 ได้เห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอของสมัชชาสุขภาพให้ “สังคมไทยปลอดใยหิน” โดยให้ยกเลิกการใช้สินค้า และการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินไครโซไทล์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตกระเบื้องซีเมนต์ความดันสูง หรือกระเบื้องใยหิน เช่น ผลิตภัณฑ์กระเบื้องลอนคู่ กระเบื้องแผ่นเรียบ กระเบื้องวีนิวล์ปูพื้น รวมถึงท่อซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์กันความร้อน ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทยมานานกว่า 50 ปี โดยอ้างเหตุผลสำคัญว่าเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง อย่างไรก็ดีล่าสุดมีข้อมูลว่ารัฐบาลได้ยืดระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไปอีก 3-5 ปี ก่อนที่จะมีการยกเลิกการผลิต และยกเลิกการนำเข้าอย่างถาวรเนื่องจากต้องศึกษาผลกระทบอย่างละเอียดรอบด้าน

ถอดบทเรียนอังกฤษ

เพื่อพิสูจน์ว่าการผลิต และการใช้สินค้าที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินไครโซไทล์มีอันตรายจริงหรือไม่ ระหว่างวันที่ 15-19 กันยายนที่ผ่านมา “ฐานเศรษฐกิจ” เป็นหนึ่งในสื่อมวลชนที่ได้รับเชิญจากสหภาพเกษตรกรแห่งชาติสหราชอาณาจักร(The National Farmers Union : NFU) เพื่อเยี่ยมชมและพูดคุยกับเกษตรกรและเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ในประเทศอังกฤษตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา

นายไบรอัน เค เอ็ดจ์ลี่ ประธานสหภาพเกษตรกรบักกิ้งแฮมเชอร์ และมิดเดิลเซ็กซ์ตอนใต้ ให้ข้อมูลว่า แร่ใยหินในโลกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ แร่ใยหินกลุ่มแอมฟิโบล ซึ่งเป็นแร่ใยหินที่มีเส้นใยเป็นสีน้ำเงินหรือสีน้ำตาล และกลุ่มที่สอง แร่ใยหินกลุ่มไครโซไทล์ ซึ่งมีส่วนประกอบทางเคมีที่แตกต่างกัน สำหรับกลุ่มแอมฟิโบลประกอบด้วยเหล็กซิลิเกตที่สามารถสะสมอยู่ในปอดเป็นเวลาหลายปี และก่อให้เกิดโรคร้ายต่างๆ เช่น โรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด และเยื่อบุช่องท้อง ส่วนกลุ่มไครโซไทล์ มีเส้นใยสีขาวอ่อนนุ่ม ประกอบด้วยแมกนีเซียมซิลิเกต เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะสูญสลายจากปอดอย่างรวดเร็ว เพราะไม่สามารถต้านทานความเป็นกรดในร่างกายได้

 

เกษตรผู้ดีกระทบ 3 แสนล้าน

ปัจจุบันในอังกฤษไม่มีเหมืองแร่ใยหินกลุ่มแอมฟิโบลแล้ว หลังจากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แร่ใยหินในกลุ่มนี้ได้ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตรถถังเนื่องจากคุณสมบัติของแร่ใยหินคือเป็นตัวยึดเกาะ ทนความร้อนและมีความแข็งแรง ส่งผลให้หลังสงคราม 30-40 ปีต่อมา ทหารที่ไปรบได้เสียชีวิตลงจากโรคมะเร็งเป็นจำนวนมาก ขณะที่แร่ใยหินกลุ่มไครโซไทล์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการใช้ในประเทศไทย มีแหล่งผลิตและแหล่งนำเข้าใหญ่ของโลกอยู่ใน 3 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา รัสเซีย และบราซิล ปัจจุบันทางสหภาพยุโรป(อียู)ได้ประกาศยกเลิกการใช้เมื่อปี 2549
“สมาชิกของสหภาพเกษตรกรแห่งชาติของอังกฤษที่มีกว่า 5 หมื่นรายเวลานี้กำลังได้รับผลกระทบมากจากการยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ เพราะกฎหมายบังคับให้เมื่อหลังคากระเบื้องเก่า หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีส่วนผสมของไครโซไทล์ที่ใช้กันมาได้นาน 40-50 ปีถึงเวลาต้องเปลี่ยนต้องใช้วัสดุอื่นที่ปลอดจากไครโซไทล์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากค่าวัสดุ ขณะที่กฎหมายควบคุมแร่ใยหินฉบับใหม่บังคับใช้เดือนเมษายน 2555 บังคับให้การรื้อถอน ต้องดำเนินการโดยผู้รับเหมา ทำให้ต้องเสียค่ารื้อถอนเอง เสียค่าขนส่ง ค่ากำจัดขยะที่มีขั้นตอนยุ่งยาก  ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ได้กำหนดขึ้นโดยอาศัยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องในครั้งนี้ คาดจะก่อให้เกิดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นต่อเกษตรกรของอังกฤษมากถึง 6 พันล้านปอนด์(ประมาณ 3 แสนล้านบาท) ยังเสียประโยชน์จากไม่มีใครมาเช่าโรงเรือนที่ยังไม่เปลี่ยนวัสดุใหม่แทนของเก่า

 

รู้ตัวเมื่อสาย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางสหภาพได้ออกมาเคลื่อนไหวกดดันเพื่อขอให้รัฐบาลทบทวนกฎหมายดังกล่าวแล้ว ทั้งการจัดสัมมนา การประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกได้รับทราบข้อมูล การดำเนินการทางการเมืองผ่านสมาชิกสภาผู้แทนเพื่ออภิปรายในสภา รวมถึงได้นำเรื่องร้องต่อศาลสูงสุด(คล้ายกับศาลปกครองของไทย) แต่ศาลไม่รับฟ้อง โดยอ้างว่ากฎหมายบังคับใช้มานานแล้ว ทำไมเพิ่งมาร้อง แสดงว่าที่ผ่านมาให้การยอมรับ

“กฎหมายบังคับใช้เมื่อปี 2006 (2549) แต่เกษตรกรเพิกเฉยเพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่เวลาผ่านไป ผลกระทบยิ่งมากจึงเริ่มต่อสู้มา 5-6 ปีเพื่อขอให้ทบทวนกฎหมายแต่ก็ไม่เป็นผล แต่เราก็จะต่อสู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้นต่อไป ตัวอย่างผลกระทบที่เกิดขึ้นเวลานี้อย่างโรงเรือนปศุสัตว์ของผมนอกจากเสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน การเปลี่ยนวัสดุใหม่ และค่ากำจัดขยะโรงเรือนเดียวสูงถึง 42,000 ปอนด์ (2.1 ล้านบาท คิดที่ 50 บาท/ปอนด์)แล้ว”  สอดคล้องกับนางแซลลี สต็อกกิ้งส์ (Sally Stockings)ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรในเขตมิดเดิลเซ็กซ์ ที่เผยว่า โรงเรือนเลี้ยงสุกรของตนใช้กระเบื้องใยหินมานานกว่า 40 ปีแล้ว หากชำรุดเสียหายตามอายุการใช้งานคงต้องเปลี่ยนวัสดุใหม่ เชื่อว่าจะเสียค่าใช้จ่ายสูงอย่างแน่นอน ขณะที่ NFU ระบุว่า นเขตมิดเดิลเซ็กซ์ก่อนหน้านี้มีฟาร์มสุกรกว่า 100 แห่ง ขณะนี้เลิกกิจการไปเกือบหมดแล้ว ส่วนหนึ่งผลจากขาดทุนจากการยกเลิกใช้แร่ใยหินทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง

 

นายกฯสุกรไทยคำรามต้าน

ด้านนายสุรชัย  สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติที่ร่วมคณะในครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า จากประสบการณ์ของเกษตรกรอังกฤษหากมีการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน รวมถึงผลิตภัณฑ์จากแร่ใยหินกลุ่มไครโซไทล์ในไทย และต้องใช้วัสดุอื่นทดแทน คาดจะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในวงกว้างทั้งภาคเกษตร ปศุสัตว์ บ้านเรือนประชาชน หน่วยราชการ เอกชน และอื่นๆ คิดคร่าวๆเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาทจากที่จะต้องปรับเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์ทั้งระบบ รวมถึงการทำลายเศษซาก ซึ่งมองว่ารัฐจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย และต้องจัดหาวัสดุที่มีคุณภาพดีไม่น้อยกว่าเดิม หากมีบังคับใช้กฎหมายจริง ที่ผ่านมากว่า 50 ปีไม่ปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าหลังคากระเบื้องใยหิน หรือท่อน้ำซีเมนต์เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง รวมถึงคนในโรงงานผลิตกระเบื้องมุงหลังคาก็ไม่ปรากฏมีใครป่วยเป็นมะเร็งจากกระเบื้องใยหิน ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยที่จะบังคับใช้กฎหมาย
“หากมีการบังคับใช้กฎหมายทางกลุ่มจะมีแอกชันออกมาอย่างแน่นอน”

 

ผู้ผลิตชี้เกมผลประโยชน์

ขณะที่ผู้ผลิตกระเบื้องใยหินรายใหญ่รายหนึ่ง สะท้อนมุมมองว่า หากมีการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน และผลิตภัณฑ์จากแร่ใยหินในไทย ผลประโยชน์จะตกกับหลายกลุ่ม ที่สำคัญคือ กลุ่มทนายความที่เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนให้แก่ลูกความของตน โดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ถึงสาเหตุของความเจ็บป่วยว่ามีที่มาจากแร่ใยหินอีกต่อไป กลุ่มแพทย์ที่วินิจฉัยโรค เพราะคนไทยส่วนใหญ่สัมผัสกับกระเบื้องใยหินอยู่ทุกวัน รวมถึงผู้ผลิตกะเบื้องบางรายที่เวลานี้ได้เริ่มปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสารไครโซไทล์แล้ว รวมถึงนักการเมืองที่จะเร่งให้มีการตั้งกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และอาจเป็นช่องโหว่ในการทุจริตได้  ในเรื่องนี้ฝากให้รัฐบาลได้พิจารณาอย่างรอบคอบต่อไป ไม่เช่นนั้นประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอยตามอย่างประเทศอังกฤษได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,779

30 กันยายน- 3 ตุลาคม  พ.ศ. 2555

Please follow and like us:

ใส่ความเห็น