แร่ใยหิน ไครโซไทล์ใช้ได้อย่างปลอดภัย

ไครโซไทล์อันตรายจริงหรือไม่?

เมื่อปลายเดือนเมษาน้องในวงการที่คบหากันมากว่า 20 ปี เขาชวนไป ฟังการเสวนาเรื่องการใช้ใยหินไครโซไทล์ในอุตสาหกรรมไทยและผลกระทบต่อสุขภาพ จัดโดยสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน เขาชวนเพราะเห็นผมกระตือรือร้นที่จะเขียนเรื่องนี้ ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของคนร่วมสังคม
แต่ด้วยว่าวันนั้นผมมีนัดไว้ก่อน กว่าจะไปงานเสวนาเขาก็แทบจะปิดร้านกันแล้ว ได้นั่งฟังผู้บรรยายแค่ไม่กี่ท่าน พอจะจับใจความได้ว่า ยังหาข้อสรุปกันไม่ได้ว่า แร่ใยหินที่ใช้ในกระเบื้องมุงหลังคานั้นจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของชาวบ้าน
จะจำได้ชัดอยู่เรื่องคือผลกระทบหากมีการยกเลิกแร่ใยหินที่ ดร.อิง เหวย หวัง จากภาคเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญบอกว่า หากแร่ใยหินเป็นอันตรายจริงและจะต้องเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาบ้านกันใหม่ทั้งประเทศ เฉพาะค่ากระเบื้องจะต้องใช้เงินประมาณ 4.5 แสนล้านบาท ตอนนั้นฟังแล้วนึกถึงหนี้ค่าข้าวที่จำนำกันไว้เลย เพราะเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกัน
เมื่อหาข้อสรุปในการฟังไม่ได้ว่าอันตรายหรือไม่อันตราย คนรักตัวกลัวตายอย่างผมก็ต้องค้นจากเว็บไซต์เอาเอง ค้นเท่าไหร่ก็ได้เห็นแต่ประโยคที่ว่าสรุปได้ว่า “แร่ใยหินอาจเป็นสาเหตุที่ให้เกิดมะเร็งปอด”
คาใจเรื่องอันตรายจากแร่ใยหินมา 2 เดือนเต็มๆ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา คุณเมธี อุทโยภาส ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ ประเทศไทย (Chrysotile Information Center หรือ CIC) ก็เชิญไปฟังการให้สัมภาษณ์กลุ่มย่อย ท่านบอกว่าขณะนี้ CIC ได้ยื่นหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อให้พิจารณาการห้ามใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของไทยอย่างรอบคอบ
คุณเมธีบอกว่า ที่ต้องไปยื่นหนังสือก็เพราะต้องการให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจ ได้พิจารณาให้ครบทุกมิติ ทั้งผลกระทบทางด้านสุขภาพและผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ไม่ผลีผลามตัดสินใจ เพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งระบบนั้นมีสูงถึงประมาณ 5 ล้านล้านบาท
ส่วนกระทบต่อสุขภาพที่ทำให้หลายประเทศทั้งทางฝั่งตะวันตกทั้งสหรัฐฯและยุโรปเลิกใช้นั้น คุณเมธี

อธิบายให้ฟังว่า แร่ใยหินนั้นมีคุณสมบัติกันความร้อนหนาวได้ดี ในอดีตประเทศแถบตะวันตกเขาจึงเอามาฉาบผนังโดยใช้แร่ใยหินล้วนๆ เมื่อนานไปแร่ก็จะเสื่อมกลายเป็นฝุ่นผงเป็นอันตรายต่อสุขภาพจึงได้เลิกใช้
ส่วนการผลิตในปัจจุบันมีการพัฒนามานานแล้ว มีความปลอดภัยสูงเพราะเลือกแร่ไครโซไทล์ซึ่งเป็นแร่ใยหินที่สามารถย่อยสลายได้หากพลัดหลงเข้าไปในร่างกายสิ่งมีชีวิต โดยใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ และการใช้ไครโซไทล์ในการผลิตกระเบื้องก็มีการผสมซีเมนต์เข้าไปเพื่อยึดใยหินเอาไว้ทำให้ไม่มีฝุ่นผง จึงไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้
ฟังคุณเมธีเล่าแล้วก็ยังไม่ปักใจเชื่อเลยกลับมาค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม  ไปเจอเรื่องแร่ใยหินในวิกิพีเดีย ได้ความว่า
แร่ใยหินแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ แอมฟิโบล (Amphiboles) และเซอร์เพนไทน์ (Serpentine) กลุ่มแอมฟิโบล แบ่งย่อยออกได้เป็น 5 ชนิด ได้แก่ ครอซิโดไลท์ (Crocidolite) อะโมไซท์ (Amosite) ทรีโมไลท์ (Tremolite)แอนโธฟิลไลท์ (Anthophyllite) และแอคทิโนไลท์ (Actinolite) ส่วนกลุ่มเซอร์เพนไทน์ (Serpentine) ได้แก่ ไครโซไทล์ (Chrysotile)
คุณสมบัติที่แตกต่างระหว่างแร่ 2 กลุ่มนี้คือไครโซไทล์ ในกลุ่มเซอร์เพนไทน์นั้นมีอัตราการสะสมในสิ่งมีชีวิตต่ำและโอกาสในการก่อให้เกิดโรคน้อยกว่าแร่ใยหินแอมฟิโบล สหภาพยุโรป (EC) ได้จัดตั้งคณะทำงานทำการศึกษาการได้ รับฝุ่นใยหินในระบบหายใจเป็นระยะเวลา 5 วัน หลังจากนั้นการตรวจสอบสภาพของปอดเป็นระยะๆ เป็นเวลา 1 ปี (รายงานของ Bernstein & Riego-Sintes 1999) พบว่าสำหรับเส้นใยที่ความยาวมากกว่า 20 ไมครอน จะใช้ระยะเวลาการย่อยสลาย 50%  ภายใน 2-3 วันจนถึง 100 วันโดยประมาณ
ได้ฟังคุณเมธีอธิบาย ได้ค้นข้อมูลด้วยตัวเองแล้ว ความรู้สึกที่วิตกจริตมา 2 เดือนว่านอนอยู่ใต้ภัยคุกคามชีวิตก็หายไป เพราะมั่นใจว่าจะไม่ได้ รับอันตรายจากแร่ใยหินในกระเบื้องมุงหลังคา

ข้อมูลจาก : http://www.hed.go.th/

อ้างอิงจากลิงค์ : http://www.hed.go.th/frontend/theme/content_frame.php?ID_Info=00030689

Please follow and like us: